







ออนไลน์ : 8
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการดำเนินงานตาม พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมากขึ้น ดังนี้
1) การยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมาด้วยตนเองหรือไม่ ?
ตอบ ไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเอง สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาแจ้งแทน หรือส่งไปรษณีย์ หรือวิธีการอื่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
2) บุคคลทั่วไปสามารถมีบ้านหรือห้องชุด เพื่ออยู่อาศัยได้กี่หลัง ?
ตอบ บุคคลทั่วไปสามารถมีบ้านหรือห้องชุดได้หลายหลัง แต่เจ้าของบ้านหรือห้องชุดนั้นจะได้รับยกเว้น ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าของบ้าน มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นหากมีมูลค่าของที่ดินและบ้านรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท
- เป็นเจ้าของบ้าน มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นภาษีหากมีมูลค่าของบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท
3) กรณีบ้านหรือห้องชุดที่ซื้อไว้เพื่ออยู่อาศัยเองหรือให้คนในครอบครัวอยู่อาศัย แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่อาศัยหรืออยู่อาศัยไม่ตลอดทั้งปี จะต้องเสียภาษีหรือไม่ ในอัตราใด ?
ตอบ หากเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องชุดต้องเสียภาษีแต่เสียในอัตราอยู่อาศัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- หากมีชื่อในทะเบียนบ้าน ได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
- หากไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นร้อยละ 0.02
4) กรณีคอนโดมิเนียม (ห้องชุด) ถ้ามีสองห้องติดกันและเปิดหากันได้ แต่ได้รับหนังสือ แสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด 2 ฉบับจะถือว่าได้รับยกเว้นทั้งสองหลังหรือไม่ ?
ตอบ ห้องชุดพิจารณาแยกตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ของห้องชุดแต่ละห้อง เมื่อมีหนังสือได้ 2 หลัง แม้จะเปิดทะลุหากันได้ ก็ไม่สามารถรวมพื้นที่เพื่อยกเว้นมูลค่าฐานภาษีได้ ดังนั้น หลังที่สอง จะเป็นหลังอื่นทันที ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
5) ชาวต่างชาติมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ทร.13) ซื้อห้องชุดไว้ 2 ห้อง ในต่างท้องที่กัน ต้องเสียภาษีหรือไม่ ถ้าเสียจะเสียภาษีอย่างไร ?
ตอบ ต้องเสียภาษีเหมือนคนไทยทั่วไป โดยได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาทเพียงห้องเดียว ส่วนอีกห้องจะถือเป็นหลังอื่น หากใช้เพื่ออยู่อาศัยก็ต้องเสียภาษีประเภทอยู่อาศัย เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.02
โดย กระทรวงมหาดไทย